จากการจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 14 (The 14th National Conference of Economists) โดยระบบออนไลน์ ผ่าน Zoom Meeting ในหัวข้อ ‘นักเศรษฐศาสตร์และผองเพื่อน: โอกาสและความท้าทายภายใต้ความไม่แน่นอน (Economists & Friends: Chances and Challenges under Uncertain Circumstances)’ โดยคณะเศษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในวันที่ 19 มีนาคม 2564 ‘เศรษฐศาสตร์กับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data’ เป็นอีกหัวข้อที่ทรงอิทธิพลแห่งยุค โดยเฉพาะในปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในประเทศมีความแตกต่าง การพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จึงไม่ต้องการนโยบายแบบปูพรม หรือ One Size Fit All เช่นในอดีต หากต้องเปลี่ยนไปสู่นโยบายที่เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่ม ดังนั้น การมีข้อมูลเบื้องลึกที่ช่วยทำให้เข้าใจถึงปัญหาที่แตกต่าง ทั้งยังสามารถติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจของคน จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นให้นักวิจัย และนักเศรษฐศาสตร์ สามารถทำงานเพื่อปรับและเปลี่ยนนโยบายของประเทศได้อย่างตรงจุด การใช้ ‘การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data’ จึงยิ่งมีบทบาทสำคัญ และทำให้ยุคนี้กลายเป็น ‘ยุคทอง’ ของการใช้ข้อมูล ทว่า ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดประเด็นว่า Big Data ไม่ใช่ Silver Bullet หากการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้นั้น นักเศรษฐศาสตร์เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญ ด้วยเพราะการมีทักษะด้านการวิเคราะห์ เช่นเดียวกับ Data Scientist ดังนั้น เมื่อมีข้อมูล ยังต้องพร้อมด้วย Skill Set ทั้งจาก Data Scientist ทั้งจากนักเศรษฐศาสตร์ โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ นำข้อมูลมาออกแบบ และตอบโจทย์ที่หลากหลายของการพัฒนาประเทศต่อไป
นักเศรษฐศาสตร์ กับการใช้ข้อมูล
ดร.โสมรัศมิ์ ให้ความรู้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ มี 2 สปีซีส์หลัก คือ นักเศรษฐศาสตร์แนวที่เป็นทฤษฎี ซึ่งจะไม่ค่อยได้มองข้อมูล แต่จะใช้เฟรมเวิร์กทางเศรษฐศาสตร์ สร้างโมเดล สร้างสมมติฐานต่าง ๆ แต่ในระบบเศรษฐกิจหนึ่งนั้นมีความหลากหลาย โมเดลซึ่งเป็นสมมติฐานจึงบอกถึงความแตกต่างของคนทุกกลุ่มไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์อีกสปีซีส์ คือ นักเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Empirical Economist ซึ่งจะศึกษาปัญหาทางเศรษฐกิจจากข้อมูลเป็นหลัก โดยในยุคที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการนำข้อมูลในระดับมหาภาคมาใช้ อาทิ GDP หรือ GPP ซึ่งบอกเพียงว่า ทั้งประเทศหรือจังหวัดมีชีพจรทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ข้อมูลระดับมหาภาคนี้ นำมาซึ่งนโยบายที่ค่อนข้างปูพรม เมื่อต้องการข้อมูลย่อย ๆ ระดับครัวเรือน ต้องใช้วิธีการเก็บสำรวจ แน่นอนว่า นอกจากจะใช้ต้นทุนค่อนข้างเยอะแล้ว การเก็บข้อมูลเล็ก ๆ เช่นนั้นไม่อาจเป็นตัวแทนของคนกลุ่มต่าง ๆ ของประเทศได้ดีนัก และการเก็บข้อมูลในบางมิติ เช่น รายได้ สินทรัพย์ หรือหนี้สิน ก็อาจไม่สามารถทำได้ถูกต้องนักจากการสำรวจ การนำใช้ข้อมูลในยุคก่อนจึงมีข้อจำกัดระดับหนึ่ง สำหรับการทำนโยบายที่จะตอบโจทย์คนทุกกลุ่มได้
“ทศวรรษที่ผ่านมา เกิด Data Revolution ขึ้น การดำเนินชีวิตของคนเป็นการสร้างข้อมูลตลอดเวลา เทคโนโลยีทำให้ข้อมูลถูกจัดเก็บได้มากขึ้น ถูกวิเคราะห์ได้ดีมากขึ้น จึงการเป็นยุคทองของนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 2 สปีซีส์ที่จะได้ใช้ข้อมูลที่ดียิ่งขึ้นมาประยุกต์เข้ากับเฟรมเวิร์กเพื่อตอบปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ได้ถูกต้อง แม่นยำ และละเอียดมากขึ้น แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องใช้ Skill Set ต่างไป ต้องมีการ Upskill เปลี่ยนแปลงซอฟต์แวร์และระบบคอมพิวเตอร์บ้าง แต่ Analytical Skill ของนักเศรษฐศาสตร์ก็ยังคงสำคัญอยู่” ดร.โสมรัศมิ์ กล่าว
เลือกใช้ Big Data…อย่างมีประสิทธิภาพ
Big Data ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ความละเอียด กล่าวคือ เข้าใจถึงสภาวะต่าง ๆ ได้ในระดับคนครัวเรือน ในระดับแปลงเกษตรกร หรือในระดับการทำธุรกรรม หรือ Transaction เป็นต้น 2) ความครอบคลุม เช่น ไม่ใช่เข้าใจครัวเรือนแค่หยิบมือ แต่สามารถทำความเข้าใจครัวเรือนหรือคนทั้งประเทศได้ จะเห็นว่า ข้อมูลเริ่มมีความใหญ่ขึ้น และ 3) ความยาวนาน หรือความถี่สูง
จากลักษณะสำคัญ 3 ประการของ Big Data ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์นี้เอง พบว่า ประเภทของข้อมูลหลักที่นักเศรษฐศาสตร์นำมาใช้ คือ 1) Administrative Data หรือข้อมูลที่ภาครัฐจัดเก็บอยู่แล้ว อาทิ ทะเบียนราษฎร์ของคนเกือบทุกคนในประเทศ หรือทะเบียนเกษตรกรที่เกษตรกรได้ลงทะเบียนเมื่อปลูกพืชในแต่ละปี 2) Digital Footprint ด้วยโลกยุคนี้คือ Digital Economy กิจกรรมเกือบทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างข้อมูลตลอดเวลา Digital Footprint ทำให้เกิดขึ้นมูลขึ้นมากมายและหลากหลาย อาทิ Mobile Payment ซึ่งสามารถสะท้อนพฤติกรรมของคนได้ เป็นต้น 3) ข้อมูลในมิติเชิงพื้นที่ เช่น โลเกชั่นของแปลงเกษตรกร ภาพถ่ายดาวเทียม ที่ล้วนทำเห็นความแตกต่างในเชิงพื้นที่ได้อย่างชัดเจน 4) ข้อมูลในมิติเชิงสื่อ (Media) เช่น รูปภาพ วิดีโอ หรือข้อความ ที่ยุคนี้สามารถนำมาเปลี่ยนแปลงเป็นข้อมูลได้ทั้งหมด
4 มิติ…นักเศรษฐศาสตร์มองระบบเศรษฐกิจมุมใหม่
นอกจากนี้ Big Data ทำให้นักเศรษฐศาสตร์มองระบบเศรษฐกิจในมุมใหม่ได้ 4 มิติด้วยกัน มิติแรก คือ มองระบบเศรษฐกิจระดับลึกขึ้น “นโยบายสำคัญอันหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทยคือ นโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เรารู้ว่า ในภาคแมคโคร หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ ต่อ GDP คำถามต่อไปคือ มันแย่หรือเปล่า แล้วเราจะทำนโยบายอย่างไร เลขกลม ๆ ตัวเดียวมันตอบอะไรไม่ได้เลย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงพยายามสร้างความเข้าใจถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนในเชิงลึก โดยใช้ขข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาของผู้กู้ในระบบเกือบทั้งหมดของประเทศจากเครดิตบูโร ตรงนี้ทำให้เราสามารถตอบได้มากขึ้นว่า หนี้อยู่ที่ไหน อยู่กับใคร สถาบันการเงินหรือผลิตภัณฑ์ประเภทไหน และกลุ่มไหนบ้างที่มีปัญหา หรือเปราะบาง ทำให้สามารถออกแบบนโยบายกำกับดูแล และมาตรการป้องปรามให้ตรงจุดมากขึ้น” ดร.โสมรัศมิ์ กล่าว
มิติที่ 2 คือ มองระบบเศรษฐกิจได้ยาวขึ้น ข้อมูลบางประเภททำให้เราสามารถติดตามคนคนหนึ่งได้ต่อเนื่องยาวนานนับสิบ ๆ ปี สามารถดูพัฒนาการทางเศรษฐกิจของคนระดับย่อยได้ “ยกตัวอย่างประเทศอเมริกาซึ่งมีการจัดเก็บข้อมูล เช่น ข้อมูลภาษี ดีมากและยาวนาน เรารู้รายได้ของ นาย ก. แล้วยังรู้รายได้พ่อแม่ของ นาย ก. ด้วย และเขาได้อนุญาตให้นักวิจัยเข้าไปศึกษา เมื่อนักวิจัยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ของลูกกับของพ่อแม่ ก็พบว่าปรากฏการณ์ American Dream นั่นก็คือการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของคนคนหนึ่งที่สามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางครอบครัว อาจไม่ได้เกิดขึ้นในทุกที่ของประเทศ เขาพบว่ายังมีคนบางกลุ่ม เช่น คนผิวสีในบางพื้นที่ ๆ ยังประสบปัญหา Social Mobility อยู่ นั่นก็คือ เมื่อเกิดในครอบครัวที่ยากจน ก็ยังจะมีการสืบทอดความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นไปเรื่อย ๆ ซึ่งนี่เป็นประเด็นทางนโยบายที่สำคัญที่เราจะไม่เข้าใจ หากเราไม่มีข้อมูลที่สามารถ Track การพัฒนาทางเศรษฐกิจของคน Over Time ได้” ดร.โสมรัศมิ์ ยกตัวอย่าง
มิติที่ 3 คือ มองระบบเศรษฐกิจได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น ปกติถ้าอยากรู้ตัวเลขการการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่าง ๆ ก็อาจต้องรอ Official Number จากสภาพัฒน์ หรือจากการเก็บข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งออกข้อมูลตัวเลขทุกไตรมาสก็เก่งแล้ว แต่ด้วยยุคนี้ มีความไม่แน่นอนสูง และทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งภาคส่วนของผู้ทำนโยบาย หรือภาคธุรกิจ จึงจำเป็นต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างฉับไวเพื่อให้ทำนโยบาย หรือปรับตัวอย่างทันท่วงที Big Data บางตัวจึงเข้ามาช่วย เช่น เมื่อนำข้อมูลในเว็บไซต์หางานมาใช้เทคนิคทาง Data Science ก็จะทำให้เห็นชีพจรของตลาดแรงงานที่เร็วยิ่งขึ้น การใช้ข้อมูลการจ่าย VAT หรือการทำธุรกรรมทางการเงินมาจับชีพจรการอุปโภคบริโภค หรือการใช้ข้อมูลการใช้สาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา มาจับชีพจรของภาคธุรกิจต่าง ๆ เป็นต้น
มิติสุดท้าย คือ มองเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่นในทางศรษฐศาสตร์ การตัดสินใจของคน ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจ พฤติกรรม หรือนิสัย “ข้อมูลเรื่องนิสัยเราไม่เคยมีมาก่อนเลย แต่ Digital Footprint ต่าง ๆ ทำให้เราเข้าใจนิสัยของคนมากขึ้น เช่น Digital Payment ทำให้เรารู้ได้ว่าคุณเป็นคนสุรุ่ยสุร่ายหรือเปล่า พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้เรารู้ว่าคุณเป็นคนแบบไหน หรือในต่างประเทศได้นำข้อมูลธุรกรรมการใช้เงินโอนภาครัฐมาศึกษาว่าคนจนได้นำเงินไปทำอะไรกันแน่ ซึ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์มาก ทั้งสำหรับการออกแบบนโยบายให้ตรงกับความต้องการ ลดปัญหารั่วไหล และให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชากรที่จะช่วยเหลือ และสำหรับการทำธุรกิจ เช่น การใช้ประโยชน์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบบริการ หรือการโปรโมตสินค้าต่าง ๆ สุดท้ายแล้ว คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือ คนทั่วไปนั่นเอง” ดร.โสมรัศมิ์ กล่าว